วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เลือดสุพรรณ

สำหรับบทประพันธ์เรื่อง"เลือดสุพรรณ"เป็นเหตุการณ์สมัยอยุธยา โดยเหตุเกิดขึ้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองสุพรรณบุรี เป็นยามฤดูน้ำหลาก ชาวบ้านต่างจึงจัดงานรื่นเริงสนุกสนาน เพราะเชื่อว่าพม่าคงไม่ยกทัพเข้ามาในช่วงน้ำหลากนี้
          ราตรีหนึ่ง "ดวงจันทร์" ลูกสาวของนายดวงและนางจันทร์ ก็ถูกชายแปลกหน้าบุกฉุดคร่าไป แต่หญิงสาวก็โชคดีที่มีบุรุษลึกลับเข้ามาช่วยไว้ได้ทัน แต่ในระหว่างพาหนี ดวงจันทร์ได้รับบาดเจ็บข้อเท้าแพลง จึงต้องพักรักษาอยู่ที่กระท่อมกลางทาง
          ดวงจันทร์ทราบถึงชายหนุ่มที่ช่วยเธอไว้ก่อนที่จะมีชาวบ้านมาพบและนำตัวกลับไปสู่อ้อมอกพ่อแม่ว่าชื่อ"ทับ" เป็นทหารไทยมาสอดแนมข้าศึก
          ไม่นานจากนั้น เพราะความประมาทและชะล่าใจของชาวบ้าน ทำให้กองทัพพม่าสามารถบุกเข้ายึดเมืองได้อย่างง่ายดาย ชาวบ้านถูกฆ่าตายหลายคน รวมทั้งย่าของดวงจันทร์ ขณะที่หญิงสาวจำนวนมากถูกฉุดไปข่มขืน
         หนึ่งในเชลยสาวที่ถูกทหารพม่าฉุดไปให้"มังระโธ" นายกองปีกขวา เป็นเพื่อนของดวงจันทร์ แต่ถูกขัดขวางโดย"มังราย" บุตรชายของ"มังมหาสุรนาท" แม่ทัพใหญ่ศึกครั้งนี้
          ที่ทำให้"ดวงจันทร์" ที่ถูกจับในสภาพของผู้ชายเพราะการปลอมตัวต้องตะลึงก็คือ"มังราย"เป็นคนเดียวกับชายหนุ่มที่บอกว่าชื่อ"ทับ" บุรุษลึกลับที่ดวงจันทร์หลงรักเมื่อช่วยเหลือเธอไว้ในครั้งก่อน
          "มังราย"มีสถานะเป็นนายกองปีกซ้ายของกองทัพพม่า "ดวงจันทร์"จึงโกรธแค้นและอาฆาตกับการกระทำของหนุ่มพม่าต่อมาตุภูมิของเธอ

          เมื่อชาวสุพรรณบุรีถูกใช้งาน และทารุณอย่างหนัก ทำให้ทุกคนตัดสินใจลุกขึ้นสู้ รวมทั้งดวงจันทร์ที่ปลอมเป็นชาย
          ระหว่างการต่อสู้ ทหารพม่าจึงทราบว่า"ดวงจันทร์"เป็นหญิงสาว "มังระโธ"จึงเข้าปลุกปล้ำ แต่ถูก"มังราย"ขัดขวางและต่อสู้ ทำให้มังระโธพ่ายแพ้ไป
          แม้ใจหนึ่งจะเกลียด"ศัตรู" แต่ลึกๆดวงจันทร์แม้จะพยายามหักห้ามใจไม่ให้คิดถึงมังรายก็ทำไม่ได้ เธอจึงแอบไปโบสถ์ร้างเพื่อภาวนาให้ตนมีจิตใจเข้มแข็ง ไม่รักศัตรู แม้เขาจะทำดีอย่างไรก็ตาม
          บังเอิญมังรายมาพบเข้า และปรับความเข้าใจกันได้ มังรายปล่อยให้ดวงจันทร์หนี แต่เธอไม่ยอมเพราะไม่อยากทิ้งพ่อและแม่ไว้ เธอจึงย้อนกลับเข้าค่ายเพื่อช่วยพ่อแม่ แต่เป็นเวลาเดียวกับที่มังระโธกลับมาทารุณพ่อกับแม่ของเธอ จนนางจันทร์เสียชีวิต
          มังรายรู้สึกสงสาร และหดหู่ในการกระทำของพวกตน จึงตัดสินใจปล่อยเชลยไปทั้งหมด

          "มังระโธ" นำเรื่องที่เกิดขึ้นฟ้อง"มังมหาสุรนาท" ในการกระทำของบุตรชาย ซึ่งมังรายชี้แจงถึงการกระทำของตนว่าทำเพื่อรักษาเกียรติของกองทัพพม่าไม่ให้กระทำตัวเช่นกองโจร
          ทหารชั้นผู้ใหญ่พม่าประชุมกันและลงความเห็นว่ามังระโธผิดจริง จึงตัดสินให้ประหารมังระโธ แต่มังระโธ เรียกร้องให้มังมหาสุรนาท ประหารมังรายด้วย เพราะมีความผิดฐานปล่อยเชลย
          เพื่อรักษาวินัยและความเป็นชายชาติทหาร มังมหาสุรนาทจึงตัดสินให้ประหารมังราย บุตรชายของตนด้วย

          เมื่อดวงจันทร์ทราบข่าว จึงกลับมาพร้อมขอให้มังมหาสุรนาทประหารเธอแทน เพราะเธอคือต้นเหตุให้มังรายปล่อยเชลยทั้งหมด แต่มังมหาสุรนาทไม่ยอม มังราย จึงถูกประหารชีวิตในที่สุด
          ส่วนดวงจันทร์ เมื่อได้รับอิสระก็สมทบกับดวง ผู้เป็นพ่อและเชลยคนอื่นๆประกาศ"สู้ตาย"กับกองทัพหม่า และชาวบ้านทั้งหมดสู้กับพม่าจนตัวตาย
          "มังมหาสุรนาท" ที่ได้รับชัยชนะยอมรับและยกย่องต่อการศึกของชาวบ้านว่า "คนไทยเหล่านี้ต่างก็รู้อยู่แล้วว่าสู้ไม่ได้ แต่ก็พร้อมใจกันมาสู้จนตาย สมแล้วที่เกิดมาในสายเลือดของเลือดสุพรรณ"


          ในการแสดงละครเรื่อง"เลือดสุพรรณ" มีเพลงที่หลวงวิจิตรวาทการ ประพันธ์ไว้และเป็นที่รู้จักกันดี 2 เพลง
          เพลงแรกคือ"ดวงจันทร์"

          (มังราย) ดวงจันทร์ งามพักตร์พิศเพียงพระจันทร์
          (ดวงจันทร์) อย่ามาแกล้งยอฉัน ฉันเป็นดวงจันทร์ที่ถูกเมฆบัง เมื่อเมฆขยาย จันทร์จะฉายท้องฟ้า
          (มังราย) แต่ไม่ลอยลงมา พี่ก็ไม่มีหวัง
          (ดวงจันทร์) จะหวังอะไร ที่ในตัวฉัน
          (มังราย) พี่รักดวงจันทร์ อยู่เจียมจะคลั่ง ห่วงการข้างหน้า พะว้าพะวัง
          (ดวงจันทร์) แล้วยังห่วงหลัง อยู่ทางเมืองโน้น
          (มังราย) ดวงจันทร์ งามพักตร์พิศเพียงพระจันทร์
          (ดวงจันทร์) อย่ามาแกล้งยอฉัน ฉันเป็นดวงจันทร์ที่ถูกเมฆบัง เมื่อเมฆขยาย จันทร์จะฉายท้องฟ้า
          (มังราย) แต่ไม่ลอยลงมา พี่ก็ได้แต่ฝัน
          (ดวงจันทร์) จะฝันอะไร ในตัวคนยาก
          (มังราย) พี่ฝันจะฝาก ชีพไว้สุพรรณ
          (ดวงจันทร์) พอเสร็จการทัพ คงกลับเขตขัณฑ์
          (มังราย) จะมาหาดวงจันทร์ ไม่ไปอื่นเลย

(เพลง"ดวงจันทร์"ขับร้องโดย"เยื่อไม้")
          อีกเพลงคือ"เลือดสุพรรณ"
        (สร้อย) มาด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย เลือดสุพรรณเข้าประจัญ อย่าได้พรั่นเลย 

          เลือดสุพรรณเคยหาญในการศึก เหี้ยมฮึกกล้าสู้ไม่รู้หนี
          ไม่ครั่นคร้ามขามใจต่อไพรี ผู้ใดมีมีดพร้าคว้ามารบ
          (สร้อย) มาด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย เลือดสุพรรณเข้าประจัญ อย่าได้พรั่นเลย
          อยู่ไม่สุขเขามารุกแดนตระหน่ำ ให้ชอกช้ำแสนอนาถชาติไทยเอ๋ย
          เขาเฆี่ยนฆ่าเพราะว่าเห็นเป็นเชลย จะนิ่งเฉยอยู่ทำไมพวกไทยเรา
          (สร้อย) มาด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย เลือดสุพรรณเข้าประจัญ อย่าได้พรั่นเลย
          อันเมืองไทยเป็นของไทยใช่ของอื่น มาต่อสู้กู้คืนเถอะเราเอ๋ย
          ถึงตัวตายอย่าเสียดายชีวิตเลย มาเถอะเหวยพวกเรามากล้าประจญ
          (สร้อย) มาด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย เลือดสุพรรณเข้าประจัญ อย่าได้พรั่นเลย
 




" คลิ้ก play เพื่อเริ่มดู clip " 
          (คลิปแสดงโดยนักแสดงจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร 24 สิงหาคม2546)
           ส่วนเพลงอื่นๆที่มาจากเรื่องนี้ที่หลายคนจำได้คือเพลง"มังราย" เป็นเป็นเพลงที่ ดวงจันทร์ ร้องรำพันถึง มังราย
          มังราย ชื่นใจของจันทร์ มาด่วนดับชีวัน ทิ้งจันทร์ไว้แดเดียว
          สุดที่จะร้องเรียกหา สุดจะคว้าสุดจะเหลียว จันทร์จะอยู่แต่ผู้เดียว แสนจะเปลี่ยวใจนัก
          มังราย ยอดชายของน้อง หวังภิรมย์สมสอง กลับมาต้องพรากกัน
          น้องนี้ไร้วาสนา ไม่มีบุญญาที่ได้สร้างสรร ไปคอยน้องบนสวรรค์ จันทร์จะตามไปเอย


          ไม่มีบันทึกว่าเพลงทั้งหมด หลวงวิจิตรวาทการ ประพันธ์เมื่อไร แต่เนื่องจากใช้เพื่อประกอบการแสดงละครเวทีเรื่อง"เลือดสุพรรณ" จึงคาดว่าน่าจะแต่งในช่วงพ.ศ. 2484 - 2486
          เขียนเพราะอยากให้คนไทยคิดแบบ"เลือดสุพรรณ"ในวันที่คนต่างความคิดไม่อยากจะนั่งคุย..ทั้งที่พูดภาษาเดียวกัน




คัดลอกจาก http://www.oknation.net/โดย ลูกเสือหมายเลข9 ขอขอบคุณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น