วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ภาพถ่ายสังสรรค์ลูกหลานพระยาสุนทรสงคราม (ปุย สุวรรณศร)



ดิบๆ จากกล้อง ร.ต.อ.สนธิชัย (ป้อม) สุวรรณศร ครับ เนื่องจากติดราชการไม่มีเวลาคัดเลือกและตกแต่ง ท่านผู้ใดถ่ายภาพไว้ช่วยส่งให้ผมที่ sonthichai_su@hotmail.com เพื่อรวมไว้ในที่เดียวกันหน่อยครับ ญาติที่ไม่ได้เล่น facebook hi5 หรือ twitter จะได้ดูภาพในนี้ได้สะดวกครับ..ขอขอบคุณ

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กำหนดการสังสรรค์ตระกูล "สุวรรณศร" 17 - 19 ธ.ค.53

วันที่ 17 ธ.ค.53
13.00น. check in เข้าที่พัก พักผ่อนตามสบาย
15.00น. รับประทานของว่าง หลังจากนั้นชมธรรมชาติพร้อมถ่ายรูป
18.00น. รับประทานอาหารเย็น พร้อมคาราโอเกะ"
วันที่ 18 ธ.ค.53
หลังจากรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อย ออกเดินทางไปหมู่บ้านกระเหรี่ยง
และรับประทานอาหารกลางวันบริเวณแก่งส้มแมว หลังจากนั้นถ้าแรงยังเหลือเราจะไปเที่ยวชมฟาร์มตัวอย่างค่ะ หรือถ้าอยากกลับที่พักเลยก้อได้ค่ะ
ช่วงบ่าย รับประทานอาหารว่าง พักผ่อนตามอัธยาศัย"
 18.00น. รัปประทานอาหารเย็น พร้อมกิจกรรมอาทิ
- เรื่องเล่าของต้นตระกูล
- ร้องคาราโอเกะ
- การแสดงของเด็กๆๆๆ (งานนี้มีรางวัลๆๆๆๆๆๆๆ)
หมายเหตุ : ใครอยากได้เพลงอะไรแจ้งล่วงหน้าที่ตั๊ก089-1215188 ได้เลยค่ะ
วันที่ 19 ธ.ค.53
หลังจากรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว สามารถพักผ่อนตามอัธยาศัย
10.30น. เก็บสัมภาระ และออกเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพค่ะ"

copy จาก facebook ลอยด์ (แต่ทำไมลงท้ายค่ะ งง หรือลอยด์เปลี่ยนไป๋)

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ครอบครัวพันตำรวจเอก ศานิต สุวรรณศร







อยากประชาสัมพันธ์คนที่เป็นเยอรมันนะ ลอยด์ช่วยเขียนบอกแล้วกัน ทราบว่าวันนั้นร้องเพลงมีคนแอบร้องไห้ด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สถิติการเข้าชมเว็บบล็อก "สุวรรณศร"

จนถึงวันนี้มีญาติสกุล "สุวรรณศร" เข้าเยี่ยมชมเว็บบล็อกนี้ จำนวนทั้งสิ้น 280 ครั้ง มาจาก 6 ประเทศ ซึ่งจากประเทศแอฟริกาใต้ ผมทราบว่าเป็นน้องชายผมเองคือนายตฤณ สุวรรณศร นายกสมาคมวัฒนธรรมและการค้าไทยแห่งประเทศแอฟริกาใต้ ส่วนประเทศรัสเซีย แคนาดา สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ ขอความกรุณาแนะนำตัวพร้อมภาพถ่ายให้ญาติๆ ทำความรู้จักหน่อยครับ เผื่อใครสตางค์เหลือจะได้ขออนุญาตไปเยี่ยมเยียน (หรือถ้าตรงๆ ก็คือขอไปเที่ยวประเทศนั้น โดยไปพักด้วย จะได้ทุ่นค่าใช้จ่ายว่างั้นเถอะ อิอิ) ช่วงนี้ก็รู้สึกว่า ผมจะพยาายามหาข้อมูล และพยายามเขียนบทความเล็กๆ น้อยๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้เป็นเว็บนิ่งหรือเว็บตายตามที่ได้ร่ำเรียนมา และเพื่อรอข้อมูลบทความ รูปถ่ายจากญาติสกุลอื่นๆ ให้เกิดความน่าสนใจและความเคลื่อนไหวข้อมูล ข่าวสารอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้รับข้อมูลจากผู้ใด ก็เกือบจะท้อแล้ว แต่พอมาเห็นสถิติการเข้าชม ปรากฏว่ายังมีผู้เข้าชมอยู่ทุกวัน ก็ยังเป็นกำลังใจให้ทำต่อไปได้ จนกว่าจะหมดข้อมูลนำเสนอ และขาดความน่าสนใจ ก็.......ขอขอบคุณ

วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ผมกับ พล.ต.ท.ชัย สุวรรณศร






       
   ในงานศพท่าน พล.ต.ท.ชัย  สุวรรณศร หลายๆ ท่าน รวมทั้งภรรยาและบุตรของท่านคงจะสงสัยว่า ผมเป็นใคร มีความสนิทสนมกับท่านขนาดไหน ถึงได้ไปงานศพทุกวัน ในวันพระราชทานเพลิงศพยังเป็นพิธีการจำเป็นให้อีก ประหนึ่งว่าเป็นญาติสนิทก็ไม่ปาน ขอเรียนว่า ป่าวเลยครับท่านกับผมเผอิญมีโอกาสรู้จักกันเมื่อปี พ.ศ.2527 ในปีนั้นผมสอบเข้าเป็นนักเรียนพลตำรวจนครบาล โดยมีอาที่ผมเคารพรักมากที่สุดคือ พ.ต.อ.ศานิต  สุวรรณศร เป็นผู้ค้ำประกันให้ผมได้เข้าเรียน ในตอนนั้น พล.ต.ท.ชัย  สุวรรณศร ดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้บัญชาการศึกษา อยู่ระหว่างการสร้างบ้านพักอาศัยหลังใหม่ที่ถนนวิภาวดีรังสิต จึงเข้าไปใช้อาคารผู้กำกับการโรงเรียนนายสิบเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว อาชาลี สุวรรณศร ซึ่งเป็นคนขับรถของท่านได้บอกให้ท่านทราบว่า มีหลานสุวรรณศรคนหนึ่งสอบเข้านักเรียนพลตำรวจได้ ท่านจึงเรียกไปพบ และเมื่อพบกันท่านเย้าว่า "ไม่ต้องบอกบอกว่าเป็นหลานใคร ขอเดาว่าปลัดเช้า" และภรรยาของท่านยังบอกว่า "ฉันเป็นย่าคนแล้วรึเนียะ" จากนั้นท่านให้ผมจัดเพื่อนไปทำงานที่บ้านพักทุกเช้าเย็น ทำให้พวกเรา 3 คน ได้ทานข้าวร้อนตลอดการศึกษา 1 ปีในโรงเรียนตำรวจ เนื่องจากต้องไปทานข้าวก่อนแล้วถึงไปทำงานบ้านท่าน ส่วนเพื่อนนักเรียนตำรวจที่เหลือกว่าจะได้ทานก็ถูกฝึกตามแบบตำรวจอยู่ พอทำงานเสร็จจะเข้าโรงเรียนก็ต้องดูก่อนว่าเพื่อนๆ หลังอาหารจะถูกทำโทษอะไรบ้าง (ซ่อม) ถ้าเสร็จแล้วพวกเรา 3 คนถึงจะกลับเข้าเรียน มีครั้งหนึ่งเพื่อนๆ ถูกทำโทษหลังอาหารเช้าไม่เสร็จซักที ทราบว่าเป็นเพราะ ไข่ต้มเพื่อนหายไป 1 ฟอง จึงถูกทำโทษจนกว่าไข่จะกลับมา (จะเป็นไปได้ไง) ผมต้องบอกให้เพื่อนผม 1 ใน 3 คน ที่ไปทานข้าวก่อนเขาแล้วทะลึ่งไปขโมยไข่เพื่อนกิน ให้ไปยอมรับแทนเพื่อนทั้งกองร้อย เรื่องถึงจบ ในระหว่างเรียนปู่ชัยได้มีหนังสือมาที่ผู้กำกับการโรงเรียนหลายครั้งว่า "ให้ นพต.(นักเรียนพลตำรวจ)สนธิชัย  สุวรรณศร จัดเพื่อนตำรวจ 10 คนบ้าง 20 คนบ้าง ไปทำงานที่บ้านใหม่ถนนวิภาวดีรังสิต ทำให้ช่วงนั้นผมในฐานะหลานผู้บัญชาการศึกษาเนื้อหอมมากๆ เพราะเพื่อนๆ ทุกคนซึ่งมีความคิดว่าอยู่โรงเรียนตำรวจเหมือนติดคุก ได้ออกไปข้างนอกเหมือนสวรรค์โปรด ต่างก็พยายามมาตีสนิทให้ผมเลือกไปทำงานที่บ้านปู่ชัย แถมได้เงินสดแบงค์ใหม่เอี่ยมจากธนาคาร(ท่านเป็นคนไม่ใช้แบงค์เก่า ผมสังเกตุทุกครั้งที่รับเงินมาแจกเพื่อนๆ) หลังจากเรียนจบ จากวันนั้นถึงวันนี้รวม 26 ปี ผมทราบตอนท่านป่วยหนัก จากอดีตนายเวรของท่านคือ พล.ต.ต.นิพนธ์  ภู่พันธ์ศรี (ผมให้โหวตให้ท่านเป็นนายเวรแห่งชาติ เนื่องจากท่านดูแลนายของท่านจนวาระสุดท้ายจริงๆ นับว่าหายากมากสำหรับนายเวรสมัยนี้)  ซึ่งโลกกลมทำให้ท่านมาเป็นผู้บังคับบัญชาของผมแจ้งให้ทราบเพราะเห็นว่าเป็นสุวรรณศรเหมือนกัน นั่นเป็นที่มาของการที่ผมไปงานศพ พล.ต.ท.ชัย  สุวรรณศร ทุกวัน...ขอให้พักผ่อนให้สบายนะครับคุณปู่..ป้อม หลานที่ไม่มีใครจำได้

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เลือดสุพรรณ

สำหรับบทประพันธ์เรื่อง"เลือดสุพรรณ"เป็นเหตุการณ์สมัยอยุธยา โดยเหตุเกิดขึ้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองสุพรรณบุรี เป็นยามฤดูน้ำหลาก ชาวบ้านต่างจึงจัดงานรื่นเริงสนุกสนาน เพราะเชื่อว่าพม่าคงไม่ยกทัพเข้ามาในช่วงน้ำหลากนี้
          ราตรีหนึ่ง "ดวงจันทร์" ลูกสาวของนายดวงและนางจันทร์ ก็ถูกชายแปลกหน้าบุกฉุดคร่าไป แต่หญิงสาวก็โชคดีที่มีบุรุษลึกลับเข้ามาช่วยไว้ได้ทัน แต่ในระหว่างพาหนี ดวงจันทร์ได้รับบาดเจ็บข้อเท้าแพลง จึงต้องพักรักษาอยู่ที่กระท่อมกลางทาง
          ดวงจันทร์ทราบถึงชายหนุ่มที่ช่วยเธอไว้ก่อนที่จะมีชาวบ้านมาพบและนำตัวกลับไปสู่อ้อมอกพ่อแม่ว่าชื่อ"ทับ" เป็นทหารไทยมาสอดแนมข้าศึก
          ไม่นานจากนั้น เพราะความประมาทและชะล่าใจของชาวบ้าน ทำให้กองทัพพม่าสามารถบุกเข้ายึดเมืองได้อย่างง่ายดาย ชาวบ้านถูกฆ่าตายหลายคน รวมทั้งย่าของดวงจันทร์ ขณะที่หญิงสาวจำนวนมากถูกฉุดไปข่มขืน
         หนึ่งในเชลยสาวที่ถูกทหารพม่าฉุดไปให้"มังระโธ" นายกองปีกขวา เป็นเพื่อนของดวงจันทร์ แต่ถูกขัดขวางโดย"มังราย" บุตรชายของ"มังมหาสุรนาท" แม่ทัพใหญ่ศึกครั้งนี้
          ที่ทำให้"ดวงจันทร์" ที่ถูกจับในสภาพของผู้ชายเพราะการปลอมตัวต้องตะลึงก็คือ"มังราย"เป็นคนเดียวกับชายหนุ่มที่บอกว่าชื่อ"ทับ" บุรุษลึกลับที่ดวงจันทร์หลงรักเมื่อช่วยเหลือเธอไว้ในครั้งก่อน
          "มังราย"มีสถานะเป็นนายกองปีกซ้ายของกองทัพพม่า "ดวงจันทร์"จึงโกรธแค้นและอาฆาตกับการกระทำของหนุ่มพม่าต่อมาตุภูมิของเธอ

          เมื่อชาวสุพรรณบุรีถูกใช้งาน และทารุณอย่างหนัก ทำให้ทุกคนตัดสินใจลุกขึ้นสู้ รวมทั้งดวงจันทร์ที่ปลอมเป็นชาย
          ระหว่างการต่อสู้ ทหารพม่าจึงทราบว่า"ดวงจันทร์"เป็นหญิงสาว "มังระโธ"จึงเข้าปลุกปล้ำ แต่ถูก"มังราย"ขัดขวางและต่อสู้ ทำให้มังระโธพ่ายแพ้ไป
          แม้ใจหนึ่งจะเกลียด"ศัตรู" แต่ลึกๆดวงจันทร์แม้จะพยายามหักห้ามใจไม่ให้คิดถึงมังรายก็ทำไม่ได้ เธอจึงแอบไปโบสถ์ร้างเพื่อภาวนาให้ตนมีจิตใจเข้มแข็ง ไม่รักศัตรู แม้เขาจะทำดีอย่างไรก็ตาม
          บังเอิญมังรายมาพบเข้า และปรับความเข้าใจกันได้ มังรายปล่อยให้ดวงจันทร์หนี แต่เธอไม่ยอมเพราะไม่อยากทิ้งพ่อและแม่ไว้ เธอจึงย้อนกลับเข้าค่ายเพื่อช่วยพ่อแม่ แต่เป็นเวลาเดียวกับที่มังระโธกลับมาทารุณพ่อกับแม่ของเธอ จนนางจันทร์เสียชีวิต
          มังรายรู้สึกสงสาร และหดหู่ในการกระทำของพวกตน จึงตัดสินใจปล่อยเชลยไปทั้งหมด

          "มังระโธ" นำเรื่องที่เกิดขึ้นฟ้อง"มังมหาสุรนาท" ในการกระทำของบุตรชาย ซึ่งมังรายชี้แจงถึงการกระทำของตนว่าทำเพื่อรักษาเกียรติของกองทัพพม่าไม่ให้กระทำตัวเช่นกองโจร
          ทหารชั้นผู้ใหญ่พม่าประชุมกันและลงความเห็นว่ามังระโธผิดจริง จึงตัดสินให้ประหารมังระโธ แต่มังระโธ เรียกร้องให้มังมหาสุรนาท ประหารมังรายด้วย เพราะมีความผิดฐานปล่อยเชลย
          เพื่อรักษาวินัยและความเป็นชายชาติทหาร มังมหาสุรนาทจึงตัดสินให้ประหารมังราย บุตรชายของตนด้วย

          เมื่อดวงจันทร์ทราบข่าว จึงกลับมาพร้อมขอให้มังมหาสุรนาทประหารเธอแทน เพราะเธอคือต้นเหตุให้มังรายปล่อยเชลยทั้งหมด แต่มังมหาสุรนาทไม่ยอม มังราย จึงถูกประหารชีวิตในที่สุด
          ส่วนดวงจันทร์ เมื่อได้รับอิสระก็สมทบกับดวง ผู้เป็นพ่อและเชลยคนอื่นๆประกาศ"สู้ตาย"กับกองทัพหม่า และชาวบ้านทั้งหมดสู้กับพม่าจนตัวตาย
          "มังมหาสุรนาท" ที่ได้รับชัยชนะยอมรับและยกย่องต่อการศึกของชาวบ้านว่า "คนไทยเหล่านี้ต่างก็รู้อยู่แล้วว่าสู้ไม่ได้ แต่ก็พร้อมใจกันมาสู้จนตาย สมแล้วที่เกิดมาในสายเลือดของเลือดสุพรรณ"


          ในการแสดงละครเรื่อง"เลือดสุพรรณ" มีเพลงที่หลวงวิจิตรวาทการ ประพันธ์ไว้และเป็นที่รู้จักกันดี 2 เพลง
          เพลงแรกคือ"ดวงจันทร์"

          (มังราย) ดวงจันทร์ งามพักตร์พิศเพียงพระจันทร์
          (ดวงจันทร์) อย่ามาแกล้งยอฉัน ฉันเป็นดวงจันทร์ที่ถูกเมฆบัง เมื่อเมฆขยาย จันทร์จะฉายท้องฟ้า
          (มังราย) แต่ไม่ลอยลงมา พี่ก็ไม่มีหวัง
          (ดวงจันทร์) จะหวังอะไร ที่ในตัวฉัน
          (มังราย) พี่รักดวงจันทร์ อยู่เจียมจะคลั่ง ห่วงการข้างหน้า พะว้าพะวัง
          (ดวงจันทร์) แล้วยังห่วงหลัง อยู่ทางเมืองโน้น
          (มังราย) ดวงจันทร์ งามพักตร์พิศเพียงพระจันทร์
          (ดวงจันทร์) อย่ามาแกล้งยอฉัน ฉันเป็นดวงจันทร์ที่ถูกเมฆบัง เมื่อเมฆขยาย จันทร์จะฉายท้องฟ้า
          (มังราย) แต่ไม่ลอยลงมา พี่ก็ได้แต่ฝัน
          (ดวงจันทร์) จะฝันอะไร ในตัวคนยาก
          (มังราย) พี่ฝันจะฝาก ชีพไว้สุพรรณ
          (ดวงจันทร์) พอเสร็จการทัพ คงกลับเขตขัณฑ์
          (มังราย) จะมาหาดวงจันทร์ ไม่ไปอื่นเลย

(เพลง"ดวงจันทร์"ขับร้องโดย"เยื่อไม้")
          อีกเพลงคือ"เลือดสุพรรณ"
        (สร้อย) มาด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย เลือดสุพรรณเข้าประจัญ อย่าได้พรั่นเลย 

          เลือดสุพรรณเคยหาญในการศึก เหี้ยมฮึกกล้าสู้ไม่รู้หนี
          ไม่ครั่นคร้ามขามใจต่อไพรี ผู้ใดมีมีดพร้าคว้ามารบ
          (สร้อย) มาด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย เลือดสุพรรณเข้าประจัญ อย่าได้พรั่นเลย
          อยู่ไม่สุขเขามารุกแดนตระหน่ำ ให้ชอกช้ำแสนอนาถชาติไทยเอ๋ย
          เขาเฆี่ยนฆ่าเพราะว่าเห็นเป็นเชลย จะนิ่งเฉยอยู่ทำไมพวกไทยเรา
          (สร้อย) มาด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย เลือดสุพรรณเข้าประจัญ อย่าได้พรั่นเลย
          อันเมืองไทยเป็นของไทยใช่ของอื่น มาต่อสู้กู้คืนเถอะเราเอ๋ย
          ถึงตัวตายอย่าเสียดายชีวิตเลย มาเถอะเหวยพวกเรามากล้าประจญ
          (สร้อย) มาด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย เลือดสุพรรณเข้าประจัญ อย่าได้พรั่นเลย
 




" คลิ้ก play เพื่อเริ่มดู clip " 
          (คลิปแสดงโดยนักแสดงจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร 24 สิงหาคม2546)
           ส่วนเพลงอื่นๆที่มาจากเรื่องนี้ที่หลายคนจำได้คือเพลง"มังราย" เป็นเป็นเพลงที่ ดวงจันทร์ ร้องรำพันถึง มังราย
          มังราย ชื่นใจของจันทร์ มาด่วนดับชีวัน ทิ้งจันทร์ไว้แดเดียว
          สุดที่จะร้องเรียกหา สุดจะคว้าสุดจะเหลียว จันทร์จะอยู่แต่ผู้เดียว แสนจะเปลี่ยวใจนัก
          มังราย ยอดชายของน้อง หวังภิรมย์สมสอง กลับมาต้องพรากกัน
          น้องนี้ไร้วาสนา ไม่มีบุญญาที่ได้สร้างสรร ไปคอยน้องบนสวรรค์ จันทร์จะตามไปเอย


          ไม่มีบันทึกว่าเพลงทั้งหมด หลวงวิจิตรวาทการ ประพันธ์เมื่อไร แต่เนื่องจากใช้เพื่อประกอบการแสดงละครเวทีเรื่อง"เลือดสุพรรณ" จึงคาดว่าน่าจะแต่งในช่วงพ.ศ. 2484 - 2486
          เขียนเพราะอยากให้คนไทยคิดแบบ"เลือดสุพรรณ"ในวันที่คนต่างความคิดไม่อยากจะนั่งคุย..ทั้งที่พูดภาษาเดียวกัน




คัดลอกจาก http://www.oknation.net/โดย ลูกเสือหมายเลข9 ขอขอบคุณ

สุวรรณา นักเอกละคร "เลือดสุพรรณ"



ร.ต.อ.เชื้อ สุวรรณศร พี่ชายคุณหญิงสุวรรณา ได้เขียนเล่าเกี่ยวกับละครเรื่องเลือดสุพรรณ ที่คุณหญิงสุวรรณาเป็นนางเอกรุ่นแรก ดังนี้

........เมื่อโตขึ้นในวัยเรียน  ท่านผู้หญิงตลับ สุขุม ภริยาท่านเจ้าพระยายมราชได้ขอมาอยู่ในอุปการะเรียนที่โรงเรียนเซ็นโยเซฟ คอนแวนต์?จนท่านผู้หญิงตลับถึงแก่อนิจกรรม คุณหญิงชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดาขอมาอยู่ในอุปการะต่อเข้าเรียนที่โรงเรียนผดุงดรุณี ถนนประมวญ ในระยะนั้นมีโรงเรียนนาฏศิลปตั้งขึ้นที่วังหน้า  สถานที่ตั้งเดี๋ยวนี้  เป็นสมัยที่ท่านจอมพล ป. พิบูลสงครามกำลังมีนโยบายให้รักชาติเป็นการใหญ่ มีคุณหลวงวิจิตรวาทการเป็นแกนนำ  สุวรรณาได้เข้าเรียนชั้นมัธยมตอนปลาย พอดีกับคุณหลวงวิจิตรกำลังนำละครเรื่องเกี่ยวกับการรักชาติโฆษณาเป็นหลักและนโยบายของรัฐบาลสมัยนั้น
ได้แต่งละครเรื่องเลือดสุพรรณออกแสดง  สุวรรณาเป็นตัวนำ  ทำให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
ผู้เล่าเองยังแปลกใจว่าสุวรรณาเล่นละครเรื่องนี้นานหลายเดือนติดต่อกันบางวันเล่นเช้าเล่นเย็น  ในบทให้ร้องไห้ สุวรรณาก็ร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวร  ร้องจริงๆ ด้วยน้ำตาจริงๆ ร้องโฮๆ จริงๆ ทุกรอบทุกครั้งเป็นสิบๆ ครั้ง  ร้องได้ทั้งเดือน  ไม่รู้ว่าเอาน้ำตามาจากไหนกันจึงเป็นที่ประทับใจคนดูเป็นพันๆ หมื่นๆ คนที่ไปดูกันต่อมาที่ไหนๆ มีละครเรื่องนี้แสดง  จะต้องมาเชิญสุวรรณาไปแนะนำดังเป็นที่รู้กันทั่วไป
ผู้เล่าจึงได้เอาบทละครเรื่องนี้มาลงไว้ท้ายหนังสือเล่มนี้เป็นการระลึกถึง และให้เป็นอนุสรณ์ในประวัติของสุวรรณาไปในตัว

ร.ต.อ.เชื้อ สุวรรณศร ก็ได้เขียนรายละเอียดที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับความรู้สึกเชิงดูถูกดังกล่าวไว้บ้าง ในประวัติคุณหญิงสุวรรณา ดังนี้

ในปลายปีที่สุวรรณาจบชั้นมัธยมตอนปลาย สุวรรณาได้เข้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ เป็นคนเดียวที่เรียนจากโรงเรียนศิลปากร ซึ่งในสมัยนั้นเรียกกันว่า เป็นโรงเรียนเต้นกินรำกิน ไม่น่าจะมีความรู้ถึงเข้าขั้นมหาวิทยาลัยแต่ก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้  ถึงกับมีหนังสือพิมพ์รายวันลงกันเกรียวกราวว่านักเรียนเรียนทางเต้นกินรำกินสอบเข้ามหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ได้  เป็นที่เกรียวกราวในสังคมสมัยนั้น
สุวรรณาเรียนจนสำเร็จได้ปริญญาของมหาวิทยาลัยจุฬาฯ ด้านอักษรศาสตร์ ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์อยู่โรงเรียนสวนสุนันทา การเป็นนางเอกของละครเรื่องเลือดสุพรรณ ยังส่งเสริมสุวรรณาอยู่ตลอดมา ทำให้ชีวิตของสุวรรณาเปลี่ยนเข้าวัยการมีครอบครัว
ทางกองทัพเรือขอตัวสุวรรณาไปประจำกองทัพเรือ  เป็นครูสอนอยู่นาน จนได้พระราชทานยศเป็น นายนาวาตรีหญิง เรื่องยาวมาถึงตอนนี้ เรื่องเลือดสุพรรณก็ยังกระหึ่มอยู่ในวงสังคม มีงานที่ไหนก็ต้องมาดึงสุวรรณาไปร่วมด้วยโดยฉะเพาะสมาคมสุพรรณพระนครเป็นขาประจำเลยทีเดียว  ได้ไปร่วมเป็นกรรมการอยู่นานพอสมควรจนถึงวันที่เขียนนนี้คนก็ยังพูดเรื่องเลือดสุพรรณร เพลงในละครเรื่องเลือดสุพรรณ ก็ยังก้องอยู่ในรายการของวิทยุแทบทุกวัน พอมีการพูดถึงเรื่องเลือดสุพรรณ ก็ต้องพูดถึงสุวรรณาเป็นเงาตามตัวไปทันที  จนสู่บั้นปลายช่วงท้ายของชีวิตนางเอกละครเลือดสุพรรณ

............ปลายชีวิตของสุวรรณาเป็นเรื่องที่น่าสงสารที่สุด........
............พนักงานยาสูบคนหนึ่ง ไม่ได้หันหน้ามาทางด้านหน้า กลับหันไปล้อเล่นกับสุนัขซึ่งวิ่งไล่รถจักรยานของตนมาเป็นระยะใกล้ชิดกับที่สุวรรณายืนอยู่ ท่านคงเห็นภาพที่เล่านี้ รถจักรยาน ๒ ล้อเสยเข้าตรงตัว สุวรรณาหงายหลังล้มทั้งยืน หัวฟาดด้านท้ายทอยลงตรงแง่ของซีเมนต์ถนน หมดสติทันที ช่วยกันนำส่งโรงพยาบาลตำรวจ  ผู้เล่ารู้ข่าวไปโรงพยาบาลพบสุวรรณาหมดสติ ใครถามอะไรไม่รู้เรื่องทั้งสิ้น สุวรรณายังร้องเพลงเลือดสุพรรณได้ เป็นที่ทุกคนอดอมยิ้มไม่ได้ทั้งๆ ที่กำลังอยู่ในภาวะเช่นนั้น สุวรรณาไม่ได้สติอยู่ทั้งคืน.........

วิธีแสดงความคิดเห็น

1. เลือกบทความที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
2. พิมพ์ข้อความในกล่องแสดงความคิดเห็น ในบรรทัดแสดงความคิดเห็นฐานะ
ให้เลือก ชื่อ/URL แล้วคลิกส่งข้อความ หรือจะดูตัวอย่างก่อนก็คลิกดูตัวอย่างแล้วค่อยส่ง..ขอบคุณครับ

ขอให้ส่งภาพถ่ายครอบครัว

กราบเรียนญาติพี่น้องสุวรรณศรทุกท่าน ท่านใดมีความประสงค์บอกกล่าวเรื่องราวครอบครัวให้กับญาติพี่น้องสุวรรณศรทราบ โดยเฉพาะตัวกระผมเองมีความกระหายอยากจะรู้จักญาติพี่น้องทุกท่านเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อสร้างเครือข่ายสุวรรณศรให้เป็นสกุลที่เข้มแข็งเฉกเช่นในอดีตกาล โดยไม่จำกัดว่าท่านจะเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี ข้าราชการ คหบดี หรือจะเป็นราษฎรเต็มขั้น เพื่อเป็นข้อมูลให้ญาติสกุลสุวรรณศรขอความช่วยเหลือ(ยกเว้นยืมเงิน เพราะทุกคนไม่ค่อยชอบ 555)  ให้ความช่วยเหลือ บอกเล่าความเจริญเติบโตของบุตรหลาน(รูปหลานๆ คลานเล่นก็ได้) ยกตัวอย่างเช่นกระผม ร.ต.อ.สนธิชัย  สุวรรณศร ขอปวารณาตัวกับญาติสกุลสุวรรณศรทุกท่านกรณีถูกจับใบอนุญาตขับขี่ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีทุกข้อหา กรุณาโทรศัพท์หาผมได้ทุกข้อหา 100 บาท (แต่เดี๋ยวก่อน! ถ้าโทรมาใน 30 วัน โปรโมชั่นพิเศษ ฟรีทุกข้อหาผมออกให้) สำหรับพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 1 ตั้งแต่สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ลพบุรี และสระบุรี จะพิจารณาเฉพาะรายที่มีเครือข่ายเพื่อนฝูงผมครับ สำหรับคดีประเภทอื่นซึ่งไม่กระทบต่อศิลธรรมอันดีงามของประชาชน ยินดีประสานกลุ่มเพื่อนเพื่ออำนวยความสะดวกครับ อย่าลืมนะครับส่งรูปได้ทุกประเภทเพื่อประกอบกับ Family tree chart ดังตัวอย่างบทความแรกๆ นะครับ..ขอกราบขอบพระคุณอย่างสูง กรุณาส่งที่ sonthichai_su@hotmail.com

หลวงพ่อฉาย สุวรรณศร แห่งวัดธรรมโสภณ ลพบุรี ใครรู้จักบ้าง

สุวรรณศร ผู้สอบชิงทุนรพีบุญนิธิได้เป็นคนแรกไปเรียนประเทศอังกฤษ


                นายประมูล สุวรรณศร เกิดวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2446 ที่ตำบลวัดราชบพิธ อำเภอสำราญราษฎร์ จังหวัดพระนคร บุตรหลวงอรรถสารสิทธิกรรม
(บุ สุวรรณศร) และนางผิน สุวรรณศร ได้สมรสกับนางสาวอัมพา ณ ป้อมเพชร บุตรพระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร) กับคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิต มีบุตรธิดารวม 4 คน
การศึกษา
                        เริ่มเข้ารับการศึกษาครั้งแรกที่โรงเรียนอมระบำรุงวัดโพธาราม จ. เพชรบุรี สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนประจำจังหวัดเพชรบุรี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วมาศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.8) เข้าศึกษาวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตไทย ชั้น 2 เมื่อปี พ.ศ. 2467 แล้วได้สอบชิงทุนรพีบุญนิธิได้เป็นคนแรกจึงได้ไปศึกษาวิชากฎหมายที่สำนักมิดเดิล เทมเปิล (Middle Temple) ลอนดอน ประเทศอังกฤษ สอบไล่ได้เกียรตินิยมชั้น 2 เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2471

การรับราชการ
                        เริ่มรับราชการในตำแหน่งเสมียนตรี กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2464 และได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ. 2472 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษา
รับราชการที่ศาลโปริสภา ศาลแพ่ง ศาลพระราชอาญา ศาลมณฑลพายัพ เป็นข้าหลวงยุติธรรมภาคเหนือ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ศาลฎีกา ท่านเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาเมื่ออายุเพียง 39 ปี เคยทำงานแทนประธานศาลฎีกาถึง 3 ครั้ง ปฏิบัติราชการที่ศาลฎีกานานถึง 20 ปี ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุคือ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
                        ท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมาย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการร่างกฎหมายในคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมพิจารณากฎหมายที่มีความสำคัญต่อประเทศหลายฉบับ
เช่น พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เป็นกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ กรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาอนุสัญญาต่าง ๆ ในกระทรวงการต่างประเทศ กรรมการพิจารณาชำระสะสางประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกรรมการตุลาการ ท่านเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2502
และเป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ ท่านได้เขียนหนังสือคำบรรยายกฎหมายลักษณะทรัพย์
คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยาน คำสอนลักษณะตั๋วเงิน และบทความด้านกฎหมายลงใน
วารสารดุลพาหและบทบัณฑิตย์จำนวนมาก ท่านได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเป็นอาจารย์ว่า หน้าที่ของอาจารย์ก็คือ ให้ความรู้ ดังนั้น ตัวอาจารย์เองควรค้นคว้าให้มากและเทียบเคียงกันว่าหลักเกณฑ์อย่างไรดีหรือไม่ แล้วนำมาสรุปอธิบายในชั้น เราต้องค้นให้มากที่สุดแม้แต่กฎหมายเก่า ๆ อย่างกฎหมายตราสามดวงเราก็ต้องไปดู
                        นายประมูล สุวรรณศร เป็นผู้มีจิตใจดี ไม่โลภ โกรธ หลงในลาภ ยศ สรรเสริญ ดำรงชีวิตด้วยความเรียบง่าย สมถะ จิตใจสงบเยือกเย็น อุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้แก่งานราชการและการสอนหนังสือ ท่านชอบอ่านหนังสือและเล่นกีฬา ออกกำลังกายหลังเลิกงานสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการพบปะสังสรรค์กับผู้ร่วมงาน มิตรสหายและลูกศิษย์ กีฬาที่ท่านนิยมเล่นคือ เทนนิส แบดมินตัน ตะกร้อ กอล์ฟ บิลเลียด ท่านสร้างความสามัคคีในหมู่คณะผู้พิพากษาและข้าราชการ โดยให้มีการพบปะสังสรรค์เล่นกีฬากันที่บ้านของท่านสัปดาห์ละครั้ง โดยท่านได้จัดเตรียมอาหารไว้เลี้ยงรับรอง
                        ท่านเป็นผู้พิพากษาที่มีความซื่อสัตย์สุจริตอย่างยิ่ง เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องนับถือใน
วงการศาลยุติธรรมและนักกฎหมายอย่างมาก คำวินิจฉัยในข้อกฎหมายของท่านที่ได้ชี้ขาด
ตัดสินไว้มีหลักกฎหมายที่ชัดเจนแจ่มแจ้งแสดงถึงความรอบรู้ทางด้านกฎหมายอย่างลึกซึ้งแตกฉาน คำพิพากษาที่ท่านเขียนไว้นับว่าเป็นแบบอย่างคำพิพากษาที่ดีที่ผู้พิพากษารุ่นหลัง ๆ จะต้องถือตาม ท่านเขียนได้สั้น กะทัดรัด ละเอียดลออทุกแง่ทุกมุม ใช้ถ้อยคำชัดเจนดีมาก ถ้อยคำแต่ละคำเต็มไปด้วยความหมายที่ถูกต้องทั้งสิ้น
                        ในการอบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา การอบรมสัมมนาผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ตลอดจนการ
อบรมผู้พิพากษาหัวหน้าศาล คำพิพากษาที่ท่านเขียนจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นแบบอย่างประกอบการอบรมเสมอ
                        นายประมูล สุวรรณศร เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเขียนคำพิพากษาไว้ว่า
                        “เริ่มต้นเราต้องตีปัญหาให้แตก แล้วเขียนคำพิพากษาให้ชัดเจนเพื่อให้คนอ่านได้เข้าใจ หลักสำคัญมีอยู่ว่า เขียนให้ผู้ฟังคำพิพากษาเกิดความรู้สึกว่าเราตัดสินถูกต้องดีแล้ว ส่วนการใช้ถ้อยคำในคำพิพากษานั้น เราต้องมีความรู้ทางภาษาไทยซึ่งสามารถทำได้ด้วยการอ่านหนังสือวรรณคดีต่าง ๆ ให้มากแล้วจดจำและอาศัยโวหารจากหนังสือเหล่านั้น ก็จะเป็นแนวทางในการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องได้ความเห็นของท่านนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับตุลาการ ซึ่งจะได้ถือเป็นแบบอย่างต่อไป
                        ในการเข้าประชุม เมื่อท่านมีความเห็นที่แตกต่างกับกรรมการท่านอื่น ท่านมักจะไม่
โต้แย้งโดยตรง แต่จะยกตัวอย่างที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ขณะนั้น เพื่อให้ผู้ร่วมประชุมได้คิดเองเห็นเองและพิจารณาว่าความเห็นที่ผูกขึ้นไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมอย่างไร นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการเข้าร่วมประชุม
คติชีวิต
                        ท่านยึดหลักเรื่องอนัตตา คือ ความไม่มีตัวตน คือว่าตัวเราก็เป็นอนัตตา ตัวของตัวไม่เป็นตัว ตัวตนไม่มี อย่าไปถือว่าฉันใหญ่ ฉันเก่ง ถือหลักอนัตตาไว้ เขาด่าว่าเราอย่างไรก็ช่างเขา ไปโกรธเขาทำไม

เอกสารอ้างอิง
กระทรวงยุติธรรม. ที่ระลึกนิทรรศการทางการศาล สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์สองร้อยปี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2525.

ทำเนียบรัฐบาลกับสุวรรณศร


ถ้าจะเชื่อมโยงสั้นๆ ก็คือ ทำเนียบรัฐบาล เดิมชื่อ “บ้านนรสิงห์” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อพระราชทานแก่ พลเอก พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก และผู้บัญชาการกรมมหรสพ ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถวายงานใกล้ชิด โปรดให้เป็นหัวหน้าห้องพระบรรทม นั่งร่วมโต๊ะเสวย ทั้งมื้อกลางวัน และกลางคืน ตลอดรัชกาล และตามเสด็จโดยลำพัง เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ซึ่งเจ้าพระยารามราฆพมีภริยาคือ คุณประจวบ สุขุม บุตรเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) กับท่านผู้หญิงตลับ สุขุม ญาติเรานี่เอง เลยไม่รู้ว่าเป็นว่าเป็นการบังเอิญหรือป่าวกับเรื่องช้างเท้าหลัง 3 ท่านของนายกรัฐมนตรี ทำให้สามีได้เข้ามานั่งในทำเนียบรัฐบาลหรือบ้านนรสิงห์หลังนี้

วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ถนนสุวรรณศร

ถนนสุวรรณศร หรือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 (หินกอง-อรัญประเทศ) แยกจากถนนพหลโยธิน ที่ชุมทางต่างระดับหินกอง อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี โดยมีแนวสายทางต่อเนื่องจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 329 ผ่านอำเภอวิหารแดง แล้วเข้าสู่จังหวัดนครนายก ที่ อำเภอบ้านนา จากนั้นเข้าสู่อำเภอเมืองนครนายก ที่ตำบลพราหมณี จากนั้นข้ามแม่น้ำนครนายก สู่อำเภอปากพลี แล้วเข้าสู่อำเภอเมืองปราจีนบุรี ผ่านอำเภอประจันตคาม ตัดกับ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ที่อำเภอกบินทร์บุรี (บริเวณสี่แยกสามทหาร) จากนั้นวิ่งเลียบทางรถไฟสายตะวันออก เข้าสู่อำเภอเมืองสระแก้ว อำเภอวัฒนานคร สิ้นสุดที่ชายแดนไทย-กัมพูชา อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว มีระยะทางประมาณ 210 กิโลเมตร

ขออภัยครับ ผมพยายามค้นหาที่มาที่ไปของถนนสุวรรณศรแล้วรู้เรื่องน้อยมาก ไม่ทราบว่าเคยได้ยินผู้ใดเล่าให้ฟังว่า เป็นเส้นทางสายยุทธศาสตร์สมัยนั้น ซึ่งมีความยากลำบากในการก่อสร้างมาก โดยเฉพาะไข้มาเลเรีย ทำให้เมื่อสร้างเส้นและขอพระราชทานชื่อถนน จึงให้เป็นนามสกุลของนายช่างคือ นายธะทรง สุวรรณศร ญาติพี่น้องท่านใดมีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะคุณป้าแตนน่าจะทราบ ขอความกรุณาส่งเรื่องราวให้ผมเพื่อแก้ไขบทความนี้ด้วย จะเป็นพระคุณต่อลูกหลานอย่างสูง... ร.ต.อ.สนธิชัย สุวรรณศร sonthichai_su@hotmail.com

"เหมืองแร่รักษาดินแดน"



เคยได้ยินเรื่อง เหมืองแร่รักษาดินแดน กันมั้ยครับ
ท่านทำเพื่อชาติบ้านเมือง แต่สุดท้าย ท่านก็ต้องสูญเสีย บ้านศาลาแดง อันเป็นบ้านพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสูญเสียเงินส่วนตัวอีกเป็นจำนวนมากเพื่อชดใช้หนี้

คุณประสงค์ สุขุม หลานปู่ของท่านเจ้าพระยายมราช ได้เขียนไว้ในหนังสือ "จากยมราชถึงสุขุมวิท เหตุการณ์ใน ๔ รัชกาล" ของท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

เป็นเรื่องรีบด่วนมาก รัชกาลที่ 6 ทรงรับข่าวจากการสืบราชการมาว่า อังกฤษจะมาขอสัมปทานเหมืองแร่ในดินแดนภาคใต้ต่อขึ้นมาจาก 4 จังหวัดที่ยึดไปแล้ว (กลันตัน ตรังกานู ปะลิส ไทรบุรี ปีนัง) แล้วจะถือโอกาสยึดครองดินแดนภาคใต้ต่อขึ้นมาอีก  โดยเฉพาะจะมาขอสัมปทานเหมืองแร่ใน จ.สุราษฎร์ธานี  จึงได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าพระยายมราชเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ แล้วให้ไปทำเหมืองแร่ดักไว้ที่สุราษฎร์ โดยมีรับสั่งว่า

"ครูไปทำเหมืองแร่ดักไว้ที่สุราษฎร์ก่อน ฉันจะได้ใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ให้สัมปทานเหมืองแร่แก่บริษัทอังกฤษ"

"ข้าพระพุทธเจ้าฯ พร้อมที่จะไปทำเหมืองดักไว้ทันที แต่ข้าพระพุทธเจ้าฯ ไม่มีเงินพอที่จะไปลงทุน เพราะจะต้องสร้างทางรถไฟเข้าในเขตเหมืองก่อน"

"ครูเอาเงินที่พระคลังข้างที่ไปก่อน เพราะงานนี้ต้องรีบทำ"

เจ้าพระยายมราชจึงได้ไปเซ็นยืมเงินจากพระคลังข้างที่มาสร้างทางรถไฟเข้าเหมือง และซื้อเครื่องจักรทำเหมืองมามอบให้ลูกชายคนโตที่มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสุขุมนัยวินิตไปบุกเบิกงานทันที

เมื่อได้ลงทุนไปแล้ว พอดีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต  "เหมืองแร่รักษาดินแดน" ตามพระราชกระแสไม่มีรายได้ และไม่มีเงินจะลงทุนต่อไป

เจ้าพระยายมราชจึงต้องล้มเลิกโครงการและนำเงินส่วนตัวไปใช้หนี้พระคลังข้างที่เป็นจำนวนมาก

ทำให้ต้องมอบ "บ้านศาลาแดง"  ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5  และหุ้นส่วนบริษัทปูนซิเมนต์ไทยส่วนใหญ่ให้แก่พระคลังข้างที่  เพื่อเป็นการใช้หนี้ด้วย

แต่การลงทุนทำเหมืองแร่ดักไว้ในครั้งนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ทรงอนุญาตให้สัมปทานแก่บริษัทอังกฤษในสุราษฎร์  เพื่อเป็นการป้องกันการใช้อำนาจยึดดินแดนของไทยต่อขึ้นมาจากที่ได้ยึดไปแล้ว  เพราะได้เคยมีตัวอย่างมาแต่เดิมว่าเมื่อบริษัทอังกฤษเข้าทำเหมืองแร่หรือทำธุรกิจที่ต้องลงทุนสูงแล้ว  ต่อมาสักระยะหนึ่งก็จะอ้างว่าไม่ได้รับความสะดวก  และจะถือโอกาสขอให้รัฐบาลของเขาส่งทหารมาจากอินเดียเข้ายึดพื้นที่ของประเทศในแถบนั้นไปเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ...........

ปัจจุบัน โรงแรม ดุสิตธานี เป็นโรงแรมเก่าแก่แห่งหนึ่งในเครือดุสิตธานีของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 946 ถนนพระราม 4 แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร อยู่บริเวณถนนสีลม ตัดกับถนนพระราม 4 ตรงข้ามกับสวนลุมพินี ก่อตั้งโดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2511 มีความสูง 23 ชั้น เป็นอาคารสูงหลังแรกในประเทศไทย สถานที่ตั้งโรงแรม เดิมเป็นบ้านศาลาแดง ของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

สุวรรณศร สำเร็จเนติบัณฑิตไทย รุ่นแรก


จากรูปนี้ ขยายความเริ่มจากที่เสด็จในกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ และพระองค์ก็ได้ร่วมลงมือสอนด้วยตนเองในที่สุดมีนักเรียนกฎหมายที่สอบไล่ได้ในปีแรก๙ คน ล้วนเคยทำงานมาแล้วคะแนนแบ่งเป็น ๒ ชั้น ชั้นที่หนึ่งมี ๔ คน ชั้นที่สองมี ๕ คนในชั้นที่ ๑ มีผู้ได้เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ๑ คน คือ นายลออ ไกรฤกษ์ รายนามเนติบัณฑิตรุ่นแรกมีดังต่อไปนี้
ชั้นที่ ๑
๑. นายลออ ไกรฤกษ์ ภายหลังเป็นเจ้าพระยามหิธร  ได้รับการยกย่องว่าเป็นเนติบัณฑิตคนแรก
๒. นายไชยขรรค์ หุ้มแพร (เทียม บุนนาค) ภายหลังเป็นขุนหลวงพระยาไกรสี
๓. นายบุ สุวรรณศร ภายหลังเป็นหลวงอรรถสารสิทธิกรรม
๔. นายถึก ภายหลังเป็นหลวงนิเทศยุติญาณ

ชั้นที่ ๒
๕. นายทองดี ธรรมศักดิ์ ภายหลังเป็นพระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี
๖. นายจำนงค์ อมาตยกุล ภายหลังเป็นพระยาเจริญราชไมตรี
๗. นายเสนอ งานประภาษ ภายหลังเป็นพระยาพิจารณาปฤชามาตย์(สุหร่าย วัชราภัย)
๘. นายโป๋ คอมันตร์ ภายหลังเป็นพระยาพิพากษาสัตยาธิปตัย
๙. ขุนสุภาเทพ (เภา ภวมัย) ภายหลังเป็นพระยามหาวินิจฉัยมนตรี


ถึงตรงนี้ จึงน่าจะพอบอกได้ว่านายบุ สุวรรณศร สอบเนติบัณฑิตไทยได้เป็นลำดับที่ ๓ จึงถือได้ว่าเป็นเนติบัณฑิตไทยหมายเลข ๓

จากคุณ : NickyNick - [ 19 ธ.ค. 50 10:04:15 ]
ขอขอบคุณ

วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จดหมายถึงพ่อ

ถึงพ่อ...บนสวรรค์
            วันนี้ผมสะดุ้งตื่นขึ้นมาเพราะตกใจว่าวันนี้เป็นวันที่ 5 ธันวา หรือป่าวเพราะทุกปีผมจะต้องคิดถึงพ่อเพราะเป็นวันพ่อแห่งชาติ(เคยมีคนพูดให้ฟังว่าพ่อแม่คิดถึงลูกทุกวัน เพราะไม่มีวันลูก แต่ลูกจะคิดถึงพ่อและแม่เฉพาะวันพ่อกับวันแม่ ปีละ 2 วันเท่านั้น..เศร้าจัง) และโดยปกติผมจะนำพวงมาลัยพร้อม
ซองเล็กๆ หรือของขวัญนิดหน่อย(แต่ปกติก็เฉพะพวงมาลัย เนื่องจากไม่ค่อยจะมีตังค์) แต่ในปีนี้ไม่ว่าจะเป็นวันที่
5 หรือไม่ ผมก็ไม่มีพ่อให้กราบต่อไปอีกแล้วจะมีก็แต่ภาพถ่ายหล่อเหลาที่ติดไว้เหนือโกฏิเก็บกระดูกพ่อที่บ้านแม่แถววัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรี ไหนๆ ตื่นมาแล้วผมมานั่งนึกถึงเรื่องราวของพ่อกับพวกเรา ทำให้ต้องเขียนจดหมายถึงพ่อให้หายคิดถึงหน่อย พ่อ(นายโสภณ สุวรรณศร ราษฎรเต็มขั้น) เล่าให้ฟังว่าหนีปู่(ปลัดเช้า)จากสุพรรณบุรี ตั้งแต่ยังหนุ่มๆ ไม่ได้เรียนหนังสือเป็นใหญ่เป็นโตเหมือนลูกคนอื่นๆ ปู่ได้ตามพ่อประมาณ 16 ปี จึงพบกัน ตอนนั้นที่บ้านโป่งเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ผมได้เห็นปู่ ปู่แจกสลากกินแบ่งรัฐบาลให้คนละใบ(ไม่ถูกซะอีก) หลังจากนั้นพ่อซึ่งมีอาชีพรับเหมาก่อสร้างเลี้ยงลูก 5 คน มาอย่างลุ่มๆ ดอน (ถึงตอนนี้น้ำตาผมไหลออกมาอย่างไม่รู้ตัว เมื่อคิดถึงเรื่องราวของพ่อ
ที่ผ่านมา) บางงานที่พ่อรับเหมาดีร่ำรวยมีเงิน แม่ใส่ทองเต็มตัว มีรถยนต์ รถแทรกเตอร์ คนงานเป็นร้อย หางานให้ญาติพี่น้องทำได้มากมาย บางงานไม่ดีไม่เหลือรถซักคัน ประสบเคราะห์ร้ายหลายอย่าง ก็ได้พี่ๆ ของพ่อช่วยเหลือเกื้อกูลที่สำคัญๆ เห็นจะเป็นคุณป้าแป๊ว คุณป้านวล คุณป้าหนาน และคนอื่นๆ ที่ผมไม่ค่อยทราบ พ่อมักจะสั่งสอนพวกเราให้สำนึกในการทำความดี โดยนำเอาความเป็น“สุวรรณศร” มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการทำความดีว่า “เราโชคดีที่เกิดในตระกูลสุวรรณศร ที่มีบรรพบุรุษหลายท่านเป็นคนดีเป็นที่ไว้เนื้อเชื้อใจให้รับราชการสนองบุญคุณแผ่นดินอย่างดี โดยเฉพาะท่านเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) อย่าทำให้ตระกูลเขาเสียหายหากเมื่อไหร่คิดที่จะทำความชั่วให้ไปเปลี่ยนนามสกุลเสียก่อน พ่อจะปลูกฝังความคิดนี้ให้พวกเราเสมอ ทำให้ผมชอบฟังเรื่องราวและชอบค้นหาความเป็น “สุวรรณศร” ทุกโอกาสที่ทำได้ และชอบเล่าถึงความเป็นมาของ “สุวรรณศร” ให้เพื่อนสนิท มิครสหายฟังอยู่เนืองๆ
จนเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า “ถ้าไม่ว่างพอที่จะฟัง อย่าเที่ยวไปถามไอ้สนมันเรื่องตระกูลเด็ดขาด เดี๋ยวมันเล่ายาว” ครั้งสุดท้ายที่พ่อได้มีโอกาสไปงานเลี้ยงสังสรรค์ที่
that’s it พ่อเมามาก ปกติก็เมาทุกครั้งนั่นแหละ แต่วันนั้นผมรู้สึกโกรธพ่อ และต่อว่าพ่อ จึงรู้ถึงความรู้สึกว่าในใจลึกๆ ของพ่อแล้วรู้สึกน้อยใจที่ไม่ได้เรียนหนังสือจบสูงๆ ไม่มีเงินทองให้ลูก ไม่มีสมบัติใดๆ ให้กับลูกๆ เหมือนพี่น้องคนอื่นๆ เขา....ผมร้องไห้และบอกกับพ่อว่าผมเสียใจที่ว่าพ่อ แต่ขอให้พ่อรู้ไว้ว่า พวกเราได้อะไรจากพ่อมากมาย ไม่มีทางจะทดแทนพระคุณได้หมดอยู่แล้ว พ่อไม่รู้หรอกว่า แค่คำพร่ำสอนของพ่อให้เป็นคนดี และการส่งเสียให้เรียนจนจบมัธยมก็ทำให้พวกเรามีวันนี้ วันนี้พี่สาวผมเป็นพันตรีหญิงรับผิดชอบงานในสำนักงานผู้ใหญ่ระดับสูงของกองทัพไทย มีครอบครัวที่อยู่กันได้ตามอัธภาพดูแลแม่ให้มีความสุขทุกวัน วันนี้ผมมีตำแหน่งเป็นสารวัตรในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในการทำงาน เคยเป็นร้อยตำรวจโทคนเดียวที่ร่วมกับผู้บังคับบัญชาทำระบบต้นแบบงานตำรวจสมัยใหม่ของประเทศ เป็นร้อยตำรวจโทคนเดียวที่ต้องเข้าไปชี้แจงกรรมาธิการที่รัฐสภาถึงการใช้งบประมาณในงานตำรวจหลายล้านบาท เป็นที่ปรึกษาคณะวิจัยงานด้านเทคโนโลยีของหลายสถาบัน วันนี้ลูกคนสุดท้องซึ่งไม่ค่อยจะมีดีกรีอะไรกับเขาเพราะเรียนไม่ค่อยเก่งขณะนี้เปิดร้านอาหารอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ฐานะทางสังคมเป็นนายกวัฒนธรรมและการค้าไทย แห่งประเทศนั้น แม้ว่าทุกตำแหน่งจะไม่ใหญ่โตเหมือนคนอื่นเขา แต่เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า พวกเราเป็นคนดี ถึงวันตายก็ต้องได้รับพระราชทานเพลิงศพแน่นอน(ตามระเบียบฯ) เพราะพ่อสอนให้พวกเราเป้นคนดี ทุกอย่างนี้ล้วนมาจากพ่อ สิ่งสุดท้ายที่ผมได้จากพ่อในวันนั้นก็คือ วันนี้ผมไม่แตะต้องแอลกอฮอร์อีกต่อไป ท้ายสุดนี้ไม่ว่าพ่อจะอยู่ ณ จุดใด
ในสววรค์เบื้องบนขอให้พ่อทราบว่า พวกเราสำนึกในบุญคุณของพ่อ และจะเป็นคนดีของพ่อ
และของตระกูล “สุวรรณศร” ตามที่พ่อปรารถนาสืบไป จนกว่าชีวิตจะหาไม่..,,,,,.ผมรักพ่อครับ........ป้อม

(ขอให้พ่อทุกคนมีความสุข ในวันพ่อพรุ่งนี้ครับ และขอให้ลูกทุกคนอย่ากราบพ่อ
เฉพาะวันพ่อนะครับ เพราะมันน้อยเหลือเกิน สำหรับพ่อที่ทำทุกอย่างให้กับพวกเรา..
ทุก ๆ วัน....ขอขอบพระคุณ)

วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ไปสวนผึ้งแล้วอย่าลืม That's It แล้วกัน

แผนที่และสอบถามเส้นทางเดอะแคมป์ บูติค รีสอร์ท



สังสรรค์ "สุวรรณศร" ณ เดอะแคมป์ บูติค รีสอร์ท











เรียนเชิญร่วมสังสรรค์ "สุวรรณศร" ระหว่างวันที่ 17 - 19 ธ.ค.53 ณ เดอะแคมป์ บูติค รีสอร์ท อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี จองที่พักได้ที่ หนูตั๊ก 08-9121-5188 เชิญชมบรรยากาศให้น้ำลายสอ