วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สุวรรณศร ผู้สอบชิงทุนรพีบุญนิธิได้เป็นคนแรกไปเรียนประเทศอังกฤษ


                นายประมูล สุวรรณศร เกิดวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2446 ที่ตำบลวัดราชบพิธ อำเภอสำราญราษฎร์ จังหวัดพระนคร บุตรหลวงอรรถสารสิทธิกรรม
(บุ สุวรรณศร) และนางผิน สุวรรณศร ได้สมรสกับนางสาวอัมพา ณ ป้อมเพชร บุตรพระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร) กับคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิต มีบุตรธิดารวม 4 คน
การศึกษา
                        เริ่มเข้ารับการศึกษาครั้งแรกที่โรงเรียนอมระบำรุงวัดโพธาราม จ. เพชรบุรี สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนประจำจังหวัดเพชรบุรี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วมาศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.8) เข้าศึกษาวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตไทย ชั้น 2 เมื่อปี พ.ศ. 2467 แล้วได้สอบชิงทุนรพีบุญนิธิได้เป็นคนแรกจึงได้ไปศึกษาวิชากฎหมายที่สำนักมิดเดิล เทมเปิล (Middle Temple) ลอนดอน ประเทศอังกฤษ สอบไล่ได้เกียรตินิยมชั้น 2 เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2471

การรับราชการ
                        เริ่มรับราชการในตำแหน่งเสมียนตรี กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2464 และได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ. 2472 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษา
รับราชการที่ศาลโปริสภา ศาลแพ่ง ศาลพระราชอาญา ศาลมณฑลพายัพ เป็นข้าหลวงยุติธรรมภาคเหนือ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ศาลฎีกา ท่านเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาเมื่ออายุเพียง 39 ปี เคยทำงานแทนประธานศาลฎีกาถึง 3 ครั้ง ปฏิบัติราชการที่ศาลฎีกานานถึง 20 ปี ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุคือ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
                        ท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมาย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการร่างกฎหมายในคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมพิจารณากฎหมายที่มีความสำคัญต่อประเทศหลายฉบับ
เช่น พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เป็นกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ กรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาอนุสัญญาต่าง ๆ ในกระทรวงการต่างประเทศ กรรมการพิจารณาชำระสะสางประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกรรมการตุลาการ ท่านเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2502
และเป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ ท่านได้เขียนหนังสือคำบรรยายกฎหมายลักษณะทรัพย์
คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยาน คำสอนลักษณะตั๋วเงิน และบทความด้านกฎหมายลงใน
วารสารดุลพาหและบทบัณฑิตย์จำนวนมาก ท่านได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเป็นอาจารย์ว่า หน้าที่ของอาจารย์ก็คือ ให้ความรู้ ดังนั้น ตัวอาจารย์เองควรค้นคว้าให้มากและเทียบเคียงกันว่าหลักเกณฑ์อย่างไรดีหรือไม่ แล้วนำมาสรุปอธิบายในชั้น เราต้องค้นให้มากที่สุดแม้แต่กฎหมายเก่า ๆ อย่างกฎหมายตราสามดวงเราก็ต้องไปดู
                        นายประมูล สุวรรณศร เป็นผู้มีจิตใจดี ไม่โลภ โกรธ หลงในลาภ ยศ สรรเสริญ ดำรงชีวิตด้วยความเรียบง่าย สมถะ จิตใจสงบเยือกเย็น อุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้แก่งานราชการและการสอนหนังสือ ท่านชอบอ่านหนังสือและเล่นกีฬา ออกกำลังกายหลังเลิกงานสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการพบปะสังสรรค์กับผู้ร่วมงาน มิตรสหายและลูกศิษย์ กีฬาที่ท่านนิยมเล่นคือ เทนนิส แบดมินตัน ตะกร้อ กอล์ฟ บิลเลียด ท่านสร้างความสามัคคีในหมู่คณะผู้พิพากษาและข้าราชการ โดยให้มีการพบปะสังสรรค์เล่นกีฬากันที่บ้านของท่านสัปดาห์ละครั้ง โดยท่านได้จัดเตรียมอาหารไว้เลี้ยงรับรอง
                        ท่านเป็นผู้พิพากษาที่มีความซื่อสัตย์สุจริตอย่างยิ่ง เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องนับถือใน
วงการศาลยุติธรรมและนักกฎหมายอย่างมาก คำวินิจฉัยในข้อกฎหมายของท่านที่ได้ชี้ขาด
ตัดสินไว้มีหลักกฎหมายที่ชัดเจนแจ่มแจ้งแสดงถึงความรอบรู้ทางด้านกฎหมายอย่างลึกซึ้งแตกฉาน คำพิพากษาที่ท่านเขียนไว้นับว่าเป็นแบบอย่างคำพิพากษาที่ดีที่ผู้พิพากษารุ่นหลัง ๆ จะต้องถือตาม ท่านเขียนได้สั้น กะทัดรัด ละเอียดลออทุกแง่ทุกมุม ใช้ถ้อยคำชัดเจนดีมาก ถ้อยคำแต่ละคำเต็มไปด้วยความหมายที่ถูกต้องทั้งสิ้น
                        ในการอบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา การอบรมสัมมนาผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ตลอดจนการ
อบรมผู้พิพากษาหัวหน้าศาล คำพิพากษาที่ท่านเขียนจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นแบบอย่างประกอบการอบรมเสมอ
                        นายประมูล สุวรรณศร เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเขียนคำพิพากษาไว้ว่า
                        “เริ่มต้นเราต้องตีปัญหาให้แตก แล้วเขียนคำพิพากษาให้ชัดเจนเพื่อให้คนอ่านได้เข้าใจ หลักสำคัญมีอยู่ว่า เขียนให้ผู้ฟังคำพิพากษาเกิดความรู้สึกว่าเราตัดสินถูกต้องดีแล้ว ส่วนการใช้ถ้อยคำในคำพิพากษานั้น เราต้องมีความรู้ทางภาษาไทยซึ่งสามารถทำได้ด้วยการอ่านหนังสือวรรณคดีต่าง ๆ ให้มากแล้วจดจำและอาศัยโวหารจากหนังสือเหล่านั้น ก็จะเป็นแนวทางในการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องได้ความเห็นของท่านนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับตุลาการ ซึ่งจะได้ถือเป็นแบบอย่างต่อไป
                        ในการเข้าประชุม เมื่อท่านมีความเห็นที่แตกต่างกับกรรมการท่านอื่น ท่านมักจะไม่
โต้แย้งโดยตรง แต่จะยกตัวอย่างที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ขณะนั้น เพื่อให้ผู้ร่วมประชุมได้คิดเองเห็นเองและพิจารณาว่าความเห็นที่ผูกขึ้นไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมอย่างไร นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการเข้าร่วมประชุม
คติชีวิต
                        ท่านยึดหลักเรื่องอนัตตา คือ ความไม่มีตัวตน คือว่าตัวเราก็เป็นอนัตตา ตัวของตัวไม่เป็นตัว ตัวตนไม่มี อย่าไปถือว่าฉันใหญ่ ฉันเก่ง ถือหลักอนัตตาไว้ เขาด่าว่าเราอย่างไรก็ช่างเขา ไปโกรธเขาทำไม

เอกสารอ้างอิง
กระทรวงยุติธรรม. ที่ระลึกนิทรรศการทางการศาล สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์สองร้อยปี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2525.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น